คำคมเดือนรอมฎอน ความเป็นมารอมฎอน รอมฎอนคืออะไร
เดือนรอมฎอน เดือนของการถือศีลอด
เดือนรอมฎอน
เป็นเดือนลำดับ ที่ 9 ของเดือนทางจันทรคติตามปีศักราช อิสลาม อัลลอฮ์ ซุบฮาน่าฮูว่าตะอาลา ทรงกำหนด ให้การเดือนรอมาฎอน เป็นฤดูหรือเทศกาลสำหรับการปฏิบัติศาสนกิจชิ้นสำคัญ คือการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นหนึ่งในองคาพยพทั้งห้าของอิสลาม(รู่ก่นอิสลาม 5 ประการ)
นักวิชาการผู้ชำนาญการด้านประวัตินิศาสตร์อิลามส่วนมากระบุตรงกันว่า การถือศลิอดเดือนรอมาฎอนนั้นถูกกำหนดให้เป็นฟัรฎู (กิจบังคับ) ครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 เดือนชะอฺบานตรงกับปีฮิจเราะฮ์สักราชที่ 2 นักวิชาการหลายท่านอธิบายว่า ในอดีตก่อนกำหนดศีลอดฟัรฎูในเดือน รอมาฎอนนั้น ท่านรอซูลใช้ให้เหล่าสาวกถือศีลอดในวันอาชูรออฺเพียงวันเดียว (แบบฟัรฎู) ต่อจากนั้นได้ยกเลิกการถือศิลอดวันอาชูรออฺ (โดยเหลือเพียงแค่เป็นซุนนะฮ์) และให้ถือศิลอดเดือนรอมาฎอนแทน เป็นวาระๆกล่าวคือ แรกที่เดียวที่กำหนดให้ถือศิลอด เดือนรอมาฎอนนั้น ประชาชนมีความรู้สึกว่าเป็นภารกิจที่หนักเอาการ ท่านรอซูลุลลออ์จึงอนุโลมให้ชั่วระยะหนึ่งสำหรับผู้ที่ยังไม่พร้อม และไม่ประสงค์ถือศิลอด ให้ไม่ต้องถือศิลอดได้แต่ต้องชำระอาหารเป็นการทดแทน (คือ เปิดโอกาสให้เลือกเองว่าจะถือศิลอดหรือไม่ถือ)
การถือศีลอด
การถือศีลอดนั้นได้ถูกบัญญัติขึ้นที่นครมะดีนะฮฺ เดือนชะอฺบาน ปีฮิจญเราะฮฺศักราชที่ 2 โดยการเริ่มเดือนของการถือศีลอดนั้น เริ่มจากการเข้าเดือนรอมฎอนโดยการเห็นดวงจันทร์ในค่ำแรกโดยมุสลิมผู้เชื่อถือได้อย่างน้อย 1 คน แต่ถ้าไม่เห็น ดวงจันทร์ก็ให้นับเดือนชะอฺบานให้ครบ 30 วัน
การถือศีลอดคือการงดเว้นจากการกิน การดื่มและการมีเพศสัมพันธ์ ตั้งแต่แสงอรุณขึ้นจนกระทั่งดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า เพื่อเป็น
อิบาดะฮฺต่ออัลลอฮ์ มุสลิมทุกคนจำเป็นต้องถือศีลอด เพราะการถือศีลอดเป็นหลักการของศาสนาอิสลาม โดยเป้าหมายของการถือศีลอด พอจะประมาณได้มีอยู่ 3 ประการคือ
1. เพื่อให้เกิดความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ
2. เพื่อให้เกิดสุขภาพดี
3. เพื่อได้รู้ถึงสภาพคนยากจน และเกิดความสงสารเห็นอกเห็นใจ
โดยผู้ที่จำเป็นต้องถือศีลอด ได้แก่ ผู้ที่เป็นมุสลิม มีสติสัมปชัญญะ บรรลุศาสนภาวะ ไม่ได้เดินทาง และมีความสามารถในการถือศีลอด และสมควรฝึกหัดให้เด็กได้ถือศีลอดด้วย ส่วนผู้ที่ได้รับการผ่อนผันไม่ต้องถือศีลอดได้แก่
1.ผู้ที่แก่ชราไม่สามารถถือศีลอดได้ หรือ ผู้ที่เจ็บป่วยเรื้อรังโดยไม่หวังว่าจะหายป่วยบุคคลเหล่านี้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องถือศีลอดใช้ด้วย แต่ต้องให้อาหารแก่คนยากจนแทนวันที่เขาขาดไป ที่ดีควรเป็นอาหารที่เขารับประทานอิ่มใน 1 วันแทนแต่ละวัน หรือจะออกเป็นข้าววันละ 1 ลิตรก็ได้
2.ผู้ที่ตั้งครรภ์ และให้นมบุตร การถือศีลอดของนางใช้ได้ แต่ถ้าหากนางกลัวว่าจะเกิดอันตรายแก่ตัวของนางหรือบุตรของนาง ก็อนุญาตให้นางละศีลอดได้ แต่จะต้องถือศีลอดใช้ในวันที่ขาดไป
3.ผู้มีรอบเดือน (เฮด) หรือเลือดหลังจากการคลอดบุตร (นิฟาส) นางจะต้องละการถือศีลอด ถ้าหากว่านางถือศีลอด การถือศีลอดของนางก็ใช้ไม่ได้ และจะต้องถือศีลอดใช้ในวันที่ขาด
4.ผู้ที่เดินทาง ในเมื่อการเดินทางเป็นภาระหรือหนักสำหรับเขา และจำเป็นที่เขาจะต้องถือศีลอดใช้ในวันที่ขาดไป แต่ถ้าหากว่าการถือศีลอดมิได้เป็นภาระหนักสำหรับผู้ที่เดินทางก็สมควรจะถือศีลอดขณะเดินทางผู้ที่จำเป็นต้องทำงานหนักตลอดเวลาเช่นผู้อยู่ในเหมืองแร่ กรรมกรแบกหาม ทหารที่ประจำการอยู่ในสนามรบ ฯลฯ อนุญาตให้เขาละศีลอดได้ แต่จะต้องถือศีลอดชดใช้เมื่อมีโอกาส เพราะหนี้ของอัลลอฮฺจำเป็นจะต้องชดใช้ก่อนสิ่งอื่นใด
แนวทาง(ซุนนะฮฺ)ในการถือศีลอด
แนวทาง(ซุนนะฮฺ)ในการถือศีลอด มี7อย่างคือ
1.รับประทานอาหารสะฮูรโดยให้ล่าช้าในการรับประทาน
2.รีบแก้ศีลอดด้วยอินทผาลัมสุกหรือแห้ง หรือน้ำ โดยรับประทานเป็นจำนวนคี่ ก่อนการแก้ศีลอดให้อ่านดุอาว่า
“ อัลลอฮุมมะ ละกะศุมตุ วะอาลาริซกิกะ อัฟตอรตุ ”
3.งดเว้นการปฏิบัติในสิ่งที่ขัดต่อมารยาทของการถือศีลอด เช่น การด่าทอ นินทา การพูด โกหก การพูดใน
สิ่งที่ไร้สาระฯลฯ
4.อ่านอัลกุรอาน
5.ละหมาดกิยาม (ตะรอเวียะฮฺ)ในค่ำคืนของเดือนรอมฎอน
6.การทำเอี๊ยะติกาฟในมัสยิด เฉพาะอย่างยิ่งใน 10 คืนสุดท้ายของเดือนรอมฎอน เพื่อแสวงหาคืน อัล ก๊อดรฺ
(ลัยละตุ้ลก๊อดรฺ)
7.ทำสิ่งที่เป็นความดีต่างๆให้มาก ไม่ว่าจะเป็นการละหมาด การกล่าวซิกรุลลอฮฺ และการทำศอดาเกาะฮฺ
การทำเอี๊ยะติกาฟ คือ การพักอยู่ในมัสยิด เพื่อปฏิบัติอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺ การเอี๊ยะติกาฟเป็นแนวทาง(ซุนนะฮฺ) ให้ปฏิบัติเฉพาะอย่างยิ่งใน 10 คืนสุดท้ายของรอมฎอนเพื่อแสวงหาคืนอัลกอดรฺ (ลัยละตุ้ลกอดรฺ) แต่ถ้าหากผู้ใดบนบานว่าจะทำการเอี๊ยะติกาฟในกรณีนี้ถือว่าการเอี๊ยะติกาฟเป็นวาญิบที่จะต้องปฏิบัติ โดยเงื่อนไขในการเอี๊ยะติกาฟได้แก่
1.จำเป็นที่ผู้เอี๊ยะติกาฟจะต้องอยู่ในมัสยิดที่ใช้ละหมาดญะมาอะฮฺให้ปฏิบัติในสิ่งที่เป็นการอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺ เช่นทำการละหมาด อ่านอัลกุรอาน กล่าว ซิกรุลลอฮฺ
2.อนุญาตให้ผู้ทำการเอี๊ยะติกาฟออกมานอกมัสยิดได้ ในเมื่อเกิดความจำเป็น เช่น การทำความสะอาด การหาอาหารมารับประทาน ถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะ และการไปเยี่ยมผู้ป่วย
3.อนุญาตให้ไปเยี่ยมผู้ป่วยถ้าหากว่าเขาได้ตั้งเงื่อนไขไว้ก่อนการเอี๊ยะติกาฟ
4.อนุญาตให้ผู้ที่อยู่ในครอบครัวหรือผู้อื่นไปเยี่ยมผู้ที่ทำการเอี๊ยะติกาฟและพูดคุยกันได้ แต่ต้องไม่ใช้เวลานานเกินควร
ซึ่ง สิ่งที่ทำให้เสียเอี๊ยะติกาฟ คือ การมีเพศสัมพันธ์ การออกไปจากมัสยิดโดยไม่มีความจำเป็น และการมีเจตนาเลิกเอี๊ยะติกาฟ
ส่วนคืนอัลกอดรฺ นั้นคือ คืนที่อัลลอฮฺได้ทรงประทานอัลกุรอาน การทำความดีในคืนนี้ดีกว่าการทำความดีในเดือนอื่นๆ ถึงหนึ่งพันเดือน นักปราชญ์ส่วนมากมีความเห็นว่า คืนอัลกอดรฺจะอยู่ในเดือนรอมฎอน ท่านร่อสู้ล ได้ใช้ให้บรรดามุสลิมหมั่นปฏิบัติอิบาดะฮฺ ใน 10 คืน สุดท้ายของเดือนรอมฎอน ดุอาอฺที่ใช้กล่าวในคืน อัลกอดรฺ คือ
“อินน่าก้า อะฟูวุน กะรีมุน ตุฮิบบุ้ลอัฟวะ ฟะอฺฟุอันนี”
"โอ้อัลลอฮฺ แท้จริงพระองค์ คือ ผู้ทรงอภัยโทษ ผู้ทรงใจบุญ ทรงรับการอภัยโทษขอพระองค์ได้ทรงอภัยโทษให้แก่ฉัน"
สิ่งที่ทำให้เสียศีลอด
สิ่งที่ทำให้เสียศีลอดมี 2 ประเภท คือ
- สิ่งที่ทำให้เสียศีลอดและจำเป็นต้องชดใช้
- สิ่งที่ทำให้เสียศีลอดและจำเป็นต้องชดใช้ พร้อมกับเสียค่าปรับตามศาสนบัญญัติ (กัฟฟาเราะฮฺ) ผู้ใดที่เสียศีลอดในเดือนรอมฎอนก็จำเป็นที่เขาจะต้องระงับการกิน การดื่มต่อไปจนดวงอาทิตย์ตกเพื่อเป็นการให้เกียรติต่อเดือนรอมฎอน
สิ่งที่ทำให้เสียศีลอด และจะชดใช้พร้อมกับเสียค่าปรับได้แก่
1.การกิน การดื่มโดยเจตนา การกินการดื่มโดยหลงลืม หรือเข้าใจผิด หรือถูกบังคับ ไม่ทำให้เสียศีลอด และให้เขาถือศีลอดต่อไปจนกระทั่งดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า จึงละศีลอด
2.การเจตนาอาเจียน ส่วนอาเจียนโดยถูกบังคับ หรือเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่เสียศีลอด การมีรอบเดือน (เฮด) หรือเลือดเนื่องจากการคลอดบุตร (นิฟาส) แม้ว่าจะมีมาก่อนดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าเพียงเสี้ยววินาทีก็ทำให้เสียศีลอด
3.การทำให้อสุจิเคลื่อนออกมาด้วยเจตนาขณะถือศีลอด
4.เจตนาแก้ศีลอดทั้งๆที่รู้ว่าดวงอาทิตย์ยังไม่ลับขอบฟ้า
5.การนัดยานัตถุ์ การสูบบุหรี่ กินหมาก ตลอดจนสิ่งเสพย์ติดอื่นๆ ส่วนการดมกลิ่นดอกไม้ ผลไม้ อาหาร ไม่ทำให้เสียศีลอด
6.การฉีดยาบำรุงกำลัง อาหารเสริม ให้น้ำเกลือ เพราะจะทำให้เกิดความอิ่ม อันขัดต่อเจตนารมณ์ของการถือศีลอด
7.การให้เลือด
สิ่งที่ทำให้เสียศีลอดและจำเป็นจะต้องชดใช้วันที่เสียศีลอด มีดังนี้
1.เจตนาร่วมสังวาสขณะถือศีลอด ผู้ที่ทำความผิดเช่นนี้จะต้อง เสียกัฟฟาเราะฮฺด้วย
2. อิหม่าม อบูหะนีฟะฮฺและอิหม่าม มาลิก มีความเห็นว่า ดื่มโดยเจตนาในตอนกลางวันของเดือนรอมฎอนโดยไม่ได้รับการผ่อนผันตามบัญญัติของศาสนาก็จำเป็นจะต้องถือศีลอดใช้และเสียกัฟฟาเราะฮฺด้วยอัตราการเสียกัฟฟาเราะฮฺและขั้นตอนมีดังต่อไปนี้คือ
ขั้นแรก ของกัฟฟาเราะฮฺคือ การปล่อยทาสให้เป็นอิสระ 1 คน
ขั้นที่สอง ถ้าหากว่าเขาไม่สามารถทำขั้นแรกได้ก็ให้เขาถือศีลอดสองเดือนติดต่อกัน
ขั้นที่สาม ถ้าหากว่าเขาไม่สามารถถือก็ให้อาหารแก่คนขัดสน(มิสกีน) 60 คน รับประทานหนึ่งวัน โดยเป็นอาหารระดับปานกลาง นักปราชญ์บางท่านกล่าวว่า จะให้อาหารแก่มิสกีนหนึ่งคนจนครบ 60 วันก็ได้
ส่วนการเสียกัฟฟาเราะฮฺจะเพิ่มขึ้นตามอัตราการทำความผิด เช่น คนหนึ่งได้รวมสังวาสกับภรรยาของเขาขณะถือศีลอด และจงใจกินดื่มในกรณีนี้จำเป็นจะต้องเสียกัฟฟาเราะฮฺ เป็น 2 เท่า คือ ปล่อยทาส 2 คน ถ้าหากว่าเขาไม่ สามารถก็ให้เขาถือศีลอดสี่เดือนติดต่อกัน ถ้าหากว่าเขาไม่อีกสามารถถือ ก็ให้อาหารแก่คนยากจน 120 คน
ข้อยกเว้นหรือสิ่งที่อนุญาตระหว่างถือศีลอด
สิ่งที่อนุญาตให้ผู้ถือศีลอดปฏิบัติได้ขณะถือศีลอดโดยไม่ทำให้เสียศีลอดได้แก่
1.อาบน้ำ ดำน้ำ ถ้าหากว่าน้ำเข้าปากโดยไม่ได้ตั้งใจไม่ทำให้เสียศีลอด
2.การเอาน้ำกลั้วปาก แม้จะกระทำโดยมิได้อาบน้ำละหมาดก็ตาม
3.การกรอกเลือด การถอนฟัน การแคะหู แคะจมูก
4.การกลืนน้ำลาย การสูดดมกลิ่นอาหาร
5.การแปรงฟัน การขากเสลด
6.การชิมแกง เมื่อรู้รสแล้วจำเป็นจะต้องบ้วนทิ้งถ้าหากกลืนเข้าไป ทำให้เสียศีลอด
การถือศีลอดใช้
การถือศีลอดใช้นั้น คือการที่ผู้ถือศีลอดไม่สามารถถือศีลอดและสตรีที่มีรอบเดือนได้ในช่วงเดือนรอมฎอน โดยผู้ที่ขาดศีลอดให้เขารีบถือศีลอดใช้ในเมื่อเขาสามารถปฏิบัติได้ และให้ถือใช้เพียงวันที่ขาดไปเท่านั้น ไม่ต้องถือเพิ่มเติมแต่อย่างใด และสตรีที่มีรอบเดือน
คือ ในขณะที่มีรอบเดือนนั้นต้องงดถือศีลอด แต่ต้องถือศีลอดชดใช้ในภายหลัง
Source : thainews.prd.go.th