ถือศีลอดทายาในปากได้ไหม


ถือศีลอดทายาในปากได้ไหม

วิธีการกินยาในเดือนรอมฎอน

เดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนที่เก้าตามปฏิทินอิสลามซึ่งเป็นปฏิทินทางจันทรคติ ที่ต้องมีการถืออดอาหาร หรือเรียกอีกอย่างว่า “ถือศีลอด” ซึ่งเป็นข้อบังคับเหนือมุสลิมทุกคนที่บรรลุศาสนภาวะ

การถืออดอาหารที่ว่านี้จะเริ่มกระทำเมื่อมีแสงอรุณขึ้นจนกระทั่งดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า กระทำติดต่อกันตลอดเดือน (ประมาณ 29 หรือ 30 วัน) ทั้งนี้นอกจากการงดการกินและดื่มแล้ว ยังงดการมีเพศสัมพันธ์ การหมกมุ่นกระทำสิ่งไร้สาระอีกด้วย

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการกินอาหารและน้ำดื่ม ทำให้ยาที่อิงกับมื้ออาหาร หรือยาที่ต้องกินในช่วงเวลาที่นอกเหนือไปจากที่ศาสนาอนุมัตินั้นต้องมีการปรับเปลี่ยนตามไปด้วย หลัก ๆ ที่สำคัญคือยาควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

เนื่องจากยาเบาหวานที่ใช้กันเป็นหลักจะอิงกับมื้ออาหาร รวมทั้งอินสุลินด้วย ดังนั้นมื้ออาหารที่ปรับเปลี่ยนไปนั้นส่งผลกระทบต่อเวลาการบริหารยาเบาหวานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในบทความนี้จะเสนอแนะแนวทางคร่าว ๆ เป็นข้อมูล อย่างไรก็ดีแนะนำให้มุสลิมที่มีโรคประจำตัวที่ต้องกินยาประจำปรึกษาแพทย์ล่วงหน้าก่อนเข้าสู่เดือนรอมฎอน

ยาที่เพิ่มการหลั่งอินสุลินออกมาจากตับอ่อน (insulin secretagogues) เช่น ยาเม็ดที่ขึ้นต้นด้วย gli- หรือตัวอินสุลินเอง จะเพิ่มความเสี่ยงในการทำให้เกิดน้ำตาลในเลือดต่ำ (hypoglycemia) พูดง่าย ๆ คือ อาการคนหิวข้าวที่มือไม้สั่น หวิว ๆ จะเป็นลมนั่นเอง ซึ่งความเสี่ยงนี้จะพบมากขึ้นในผู้สูงอายุ ผู้ที่ไตเสื่อม หรือมีโรคประจำตัวอื่น ๆ ร่วม การเปลี่ยนกลุ่มยาชั่วคราว หรือลดขนาดยา insulin secretagogues ลงครึ่งหนึ่ง ในช่วงเดือนรอมฎอนอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดน้ำตาลในเลือดต่ำได้

มีข้อมูลแนะนำให้แพทย์เปลี่ยนชนิดของอินสุลินจากเดิมเป็น intermediate หรือ long-acting ในช่วงเย็น และใช้ short หรือ rapid-acting insulin เสริมในช่วงมีมื้ออาหาร และแนะนำให้ใช้ขนาด insulin ขนาดตามปติในช่วงหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า และปรับขนาด insulin ลงครึ่งหนึ่งในช่วงมื้ออาหารก่อนแสงอรุณขึ้น (predawn meal)

ยาโรคอื่น ๆ เดิมที่กินช่วงเวลาเย็นเวลาเดียว (เช่น ยาลดไขมันในเลือดกลุ่ม statins) สามารถกินได้ตามปกติในมื้อเย็นหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้ว ยาที่อาจจะต้องปรับมื้อเลื่อนขึ้นไปคือ ยาที่กินวันละครั้งตอนเช้า เช่น ยาลดความดันบางชนิด ยาแอสไพริน อาจจะต้องร่นเวลาจากช่วงเช้าที่ดวงอาทิตย์ขึ้นแล้วเป็นช่วงก่อนแสงอรุณขึ้น และแอสไพรินต้องกินหลังอาหารทันทีมื้อก่อนแสงอรุณขึ้นเช่นกัน

ยาที่ต้องกินวันละ 2 ครั้ง (เช้า-เย็น) ก็ต้องใช้วิธีการกินมื้อเช้าร่นขึ้นไปก่อนแสงอรุณขึ้นและมื้อเย็นอาจจะต้องกินทันทีหลังละศีลอด เมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้ว เพื่อให้ระยะห่างระหว่างมื้อไม่นานเกินไป

ในผู้ที่มีความจำเป็นต้องหยอดตา หรือใช้ยาหยอดหู มีข้อมูลว่าไม่ทำให้เสียศีลอด ในทำนองเดียวกันกับการทายา ทาครีมที่ผิวหนัง

การใช้ยาอมใต้ลิ้น เช่น ยาอม nitroglycerin หรือ isosorbide dinitrate ก็ไม่ทำให้เสียศีลอด

ข้อควรคำนึงระหว่างการถือศีลอด

วางแผนการกินดื่ม หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง สำหรับอาหารละศีลอด หรืออาหารที่เป็นน้ำตาล หรือข้าวขัดสี การกินคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ขนมปังโฮลวีท ผัก ผลไม้ ข้าวกล้องจะช่วยให้อิ่มทนและระดับน้ำตาลไม่สูงขึ้นพรวดพราด

ตามซุนนะฮฺมีการละศีลอดด้วยผลอินทผลัมและน้ำเปล่า มีข้อมูลทางการแพทย์พบว่า อินทผลัม 1 ขีด (100 กรัม) จะให้ใยอาหาร (dietary fiber) ประมาณ 50-100% ของปริมาณที่ควรจะได้รับในแต่ละวันแล้ว นอกจากนี้ในอินทผลัมยังมีน้ำตาลฟรุคโตส ซึ่งดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดอย่างช้า ๆ และยังมีค่า glycemic index ต่ำ ทำให้ระดับน้ำตาลไม่ขึ้นอย่างรวดเร็ว

ผู้ป่วยเบาหวานอาจจะต้องเพิ่มความถี่ในการตรวจน้ำตาลในเลือด หรือสังเกตอาการของภาวะน้ำตาลตกให้ดียิ่งขึ้น หากมีอาการน้ำตาลตกบ่อยครั้ง อาจต้องพิจารณายกเลิกการถือศีลอดไปชั่วคราว

ในวัยทำงานอาจจะต้องระวังในเรื่องระยะเวลาและความแรง (intensity) ในการออกแรงทำงาน หรือออกกำลังกายมากกว่าปกติ

หลังหมดเดือนรอมฎอนไปแล้ว 2-3 วันยังต้องสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดเช่นเดียวกัน - กรมสุขภาพจิต

....

คำวินิจฉัย (ฟัตวา) จุฬาราชมนตรี ที่ 16/2557

เรื่อง การใช้ยาอมใต้ลิ้นในระหว่างการถือศีลอดสำหรับผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจ

คำถาม : ผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจ สามารถใช้ยาอมใต้ลิ้นในระหว่างการถือศีลอดได้หรือไม่?

คำวินิจฉัย

กรณีการอมสิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้ในปาก เช่น การอมยาใต้ลิ้นสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจในระหว่างการถือศีลอด ซึ่งการดูดซึมตัวยาเป็นการดุดซึมผ่านเส้นเลือดที่อยู่ใต้ลิ้นโดยตรง โดยมิได้ผ่านทางเดินอาหารตามปรกติ ย่อมสามารถกระทำได้ โดยไม่ทำให้เสียการถือศีลอด ทั้งนี้เพราะเม็ดยาอมไม่ได้ล่วงล้ำเข้าสู่ลำคอ ซึ่งเป็นอวัยวะภายในและการออกฤทธิ์ของยาเข้าสู่กระแสเลือดภายในเป็นการซึมผ่านเส้นเลือดที่อยู่ใต้ลิ้น ซึ่งลิ้นเป็นอวัยวะภายนอกถึงแม้จะมีต่อมที่ลิ้นเพื่อรับรสชาติก็ตาม

ทั้งนี้ มีเงื่อนไขว่า ยาอมที่ละลายปนอยู่กับน้ำลายขณะที่มีการอมของผู้ป่วยนั้น ผู้ป่วยจะต้องไม่กลืนน้ำลายนั้นลงคอ หากผู้ป่วยกลืนเม็ดยาลงสู่ลำคอหรือกลืนน้ำลายที่มีด้วยาละลายปะปนอยู่ลงสู่ลำคอก็ถือว่า เสียการถือศีลอด และหากผู้ที่อมยาเคี้ยวเม็ดยาจนแตกละเอียดและมีวัตถุหรือสิ่งที่แตกออกมาจากเม็ดยาหลุดเข้าไปถึงอวัยวะภายในของลำคอโดยเจตนา ก็ถือว่าทำให้เสียการถือศีลอด แต่ถ้าหากสงสัยในกรณีดังกล่าวก็ไม่ทำให้เสียการถือศีลอด และหากมีรสชาติหรือกลิ่นของเม็ดยาอมที่อมไว้ลงไปสู่ลำคอ ก็ถือว่าไม่ทำให้เสียการถือดีลอดเช่นกัน (อัล-มัจญมูอ์ ซัรฮุลมุฮัซซับ: อัน-นะวาวีย์ : 6/394-395)

อาศิส พิทักษ์คุมพล

จุฬาราชมนตรี

มาแรงรอบสัปดาห์