รอมฏอน ปี 2563 ตรงกับวันที่ เริ่มค่ำวันที่ 23 เมษายน – ค่ำวันที่ 24 พฤษภาคม 2563
*กำหนดวันดังกล่าวจะเป็นไปตามแต่ละพื้นที โดยจะดูพระจันทร์เสี้ยวเป็นหลัก
รอมฎอน คือ
คำว่า รอมฎอน ไม่ได้แปลว่า ประเพณี แต่หมายถึงเดือน 9 นับตามปฏิทินฮิจเรอะญ์ หรือปฏิทินจันทรคติของอิสลาม สำหรับชาวมุสลิม รอมฎอนถือเป็นเดือนที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด
ความสำคัญของเดือนรอมฎอน
ในช่วงเดือนรอมฎอน ชาวมุสลิมมีความเชื่อว่าเป็นช่วงเวลาที่พระผู้เป็นเจ้าประทานพระคัมภีร์อัลกุรอานให้กับศาสดา ท่านนบีมูฮัมหมัด เพื่อชี้นำทางให้แก่อิสลามิกชนทั่วโลก
นอกจากนี้ในเดือนรอมฎอน ยังมีศาสนกิจที่สำคัญคือ การถือศีลอด เพื่องดเว้นการทานอาหาร เครื่องดื่ม และการปฏิบัติตัวตามหลักศาสนาตั้งแต่ช่วงพระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตกดิน ตลอดระยะเวลาของเดือนรอมฎอน ก็เพื่อเป็นการฝึกตนให้รู้จักยับยั้งต่อสิ่งยั่วเย้าทั้งหลาย และทบทวนเนื้อหาในคัมภีร์อัลกุรอาน รวมถึงเป็นช่วงเวลาของครอบครัวที่จะได้อยู่ร่วมกันอีกด้วย
วัตถุประสงค์ในการถือศีลอด
การถือศีลอดก็เพื่อให้ชาวมุสลิมที่บรรลุศาสนภาวะ (ชาวมุสลิมที่อายุ 15 ปี หรือผู้หญิงที่มีประจำเดือนแล้ว) ได้ตระหนักถึงอุปสรรค ความลำบาก และความทุกข์ยากในการดำเนินชีวิต เพื่อก่อให้เกิดความอดทนอดกลั้น รู้จักยับยั้งต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ ทั้งความหิวโหย ความลุ่มหลงต่าง ๆ เป็นการฝึกจิตใจให้สูงขึ้น
ระยะเวลาการถือศีลอดในแต่ละวัน
ในอัลกุรอานปรากฎไว้ชัดเจนว่า “จงกินและจงดื่มจนกระทั่งความขาวของกลางวันกระจ่างจากความดำของกลางคืนในรุ่งสาง แล้วจงถือศีลอดจนกระทั่งพลบค่ำ” หมายถึงการถือศีลอดเริ่มเมื่อแสงอรุณขึ้น จนตะวันลับขอบฟ้าในแสงสุดท้าย
ดูตารางปฏิทินในแต่ละวันตลอดเดือนรอมฏอน 2020 ที่นี่
ข้อปฏิบัติและข้อห้ามในการถือศีลอด
- ทานอาหารซุโฮร์ (Suhoor) ให้ใกล้หมดเวลามากที่สุด และให้รีบแก้ศีลอดเมื่อถึงเวลา
- ไม่พูดนินทาว่าร้าย ไม่คิดร้าย ทำใจให้สงบ และอ่านอัลกุรอาน
- ไปละหมาดตะรอเวียะฮ์ (การละหมาดในเดือนรอมฏอน) ทุกๆ วัน แบบไม่เร่งรีบ
- งดเว้นการร่วมประเวณี หรือทำให้อสุจิออกมาโดยเจตนา
- งดสิ่งเสพติดต่าง ๆ เช่น บุหรี่ กาแฟ ชา ของมึนเมา
- ห้ามเอาสิ่งใดเข้าไปในทวารทั้งหมดของร่างกาย
ใครที่สามารถเป็นผู้ถือศีลอด
ชาวมุสลิมที่อายุ 15 ปี หรือผู้หญิงที่มีประจำเดือนแล้ว เรียกว่าผู้ที่บรรลุศาสนภาวะ แบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
ผู้ต้องถือศีลอด คือ ผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง ไม่เจ็บป่วย และไม่อยู่ระหว่างเดินทาง
ผู้ที่ได้รับการผ่อนผัน คือ ผู้ที่เจ็บไข้ได้ป่วย ผู้ที่ต้องเดินทาง
ผู้ที่ได้รับการยกเว้น คือ คนชรา คนป่วยเรื้อรังที่แพทย์วินิชฉัยแล้วว่าไม่หาย หญิงตั้งครรภ์ แม่ลูกอ่อน คนที่ร่างกายไม่แข็งแรง หากถือศีลอด อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต และผู้ที่ทำงานหนัก เช่น งานแบกหาม งานในเหมือง เป็นต้น
*สำหรับผู้หญิงที่มีประจำเดือน จะต้องเสียศีลอด คืองดการถือศีลอดในช่วงที่มีประจำเดือน*
อาหารในช่วงถือศีลอด
อาหารที่ชาวมุสลิมจะทานได้ในช่วงถือศีลอดคือ อาหารฮาลาล ( อาหารหรือผลิตภัณฑ์อาหาร ซึ่งอนุมัติตามบัญญัติศาสนาอิสลาม ให้มุสลิมบริโภคหรือใช้ประโยชน์ได้ ) เท่านั้น และงดเว้นอาหารหะรอม หรืออาหารที่เป็นข้อห้ามของศาสนาอิสลาม คือ สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ที่มีเขี้ยวเล็บ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเลือด
ในการถือศีลอดจะทานอาหารหลัก ๆ 2 มื้อ คือ ซุโฮร์ (Suhoor) เป็นมื้อก่อนแสงอรุณ ถือเป็นมื้อแรกของวัน ทำให้ต้องหาอาหารที่มีโปรตีนสูงเพื่อให้อิ่มท้องนาน ๆ และอีกมื้อคือ อิฟตาร์ (Iftar) เป็นมื้ออาหารที่ทานหลังพระอาทิตย์ตก โดยอาหารที่นิยมทานเพื่อเติมโปรตีน เช่น มะตะบะเนื้อ ข้าวมันไก่ ข้าวหมกไก่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีอินทผาลัม ผลไม้จากตะวันออกกลางที่หาทานได้ง่ายขึ้นเมื่อเข้าสู่เดือนรอมฎอน
ตามประวัติศาสตร์ศาสนาอิสลาม อินทผาลัมเป็นผลไม้ที่ท่านนบีมูฮัมหมัดส่งเสริมให้ชาวมุสลิมทานคู่กับน้ำเปล่า โดยควรทานทั้งอินทผาลัมผลสด (ฤทธิ์เย็น) และอินทผาลัมผลแห้ง (ฤทธิ์ร้อน) เพื่อให้ร่างกายเกิดสมดุล นอกจากนี้แพทย์แผนปัจจุบันยังได้ศึกษาและระบุว่า อินทผาลัมเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงอีกด้วย
เมื่อได้ศึกษาแล้ว เดือนรอมฎอนของชาวมุสลิม เป็นเดือนศักดิ์สิทธิ์ที่มีความน่าสนใจในหลากหลายแง่มุม ทั้งเรื่องของที่มา ความสำคัญ ความเชื่อ หลักปฏิบัติ ศาสนกิจที่สำคัญอย่างการถือศีลอด รวมไปถึงอาหารฮาลาลที่ชาวมุสลิมเลือกทานในช่วงเดือนบวช เป็นการผสมผสานหลักวิทยาศาสตร์ ความเชื่อ และความศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้าไว้อย่างลงตัว