การถือศีลอด เพื่ออะไร ?


การถือศีลอด เพื่ออะไร ?

การถือศีลอด หรือ อัซเซาม์ (الصوم) ในทางภาษา คือการยับยั้งจากสิ่งหนึ่ง และละเว้นไม่กระทำสิ่งนั้น เช่น ผู้อดกลั้นจากอาหาร เครื่องดื่ม และการประเวณี หรือ ไม่พูดจา เป็นต้น เรียกอาการเหล่านี้ว่า “ซออิม” ผู้ถือศีลอด ในทางภาษา

การถือศีลอดในทางศาสนบัญญัติ หมายความว่า “การงดเว้นจากสิ่งที่ถูกจำกัด(การกิน การดื่ม การประเวณี และอื่น ๆ ) โดยมีเจตนาต่อการนั้น นับจากแสงอรุณครั้งที่สองขึ้น จนกระทั่งดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า จากบุคคลที่จำกัด ( คือ มุสลิม บรรลุศาสนภาวะ มีสติสัมปชัญญะ มีความสามารถ คนไม่เดินทาง ไม่มีเฮดและนิฟาส”

ดังนั้น การถือศีลอดจึงไม่เป็นการบังคับสำหรับคนที่มีเหตุขัดข้องทางศาสนา ทว่าต้องมีการชดใช้เมื่อข้อขัดข้องนั้นหายไป ดังจะได้กล่าวในโอกาสต่อไป 

การถือศีลอดในเดือนรอมฎอนนั้น มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ผู้ถือศีลอดได้สัมผัสและรับรู้ถึงความทุกข์ยากลำบาก ได้เรียนรู้ถึงอุปสรรรคต่างๆ ของการดำเนินชีวิต และเมื่อได้สัมผัส ได้รับรู้ถึงความทุกข์ยากแล้ว การถือศีลอดจึงส่งผลสืบเนื่องให้ผู้ถือศีลนั้นรู้จักอดกลั้นอดทนต่อความทุกข์ยากต่างๆ ด้วยความพากเพียรและสติปัญญา กล่าวคือ ฝึกฝนจิตใจของชาวมุสลิมทุกคนให้เป็นผู้มีสติ หนักแน่น มีจิตใจอดทนอดกลั้นทั้งต่อความหิวโหย ต่อความโกรธ ความปรารถนาแห่งอารมณ์ และสิ่งยั่วยวนนานับประการ

ซึ่งผลที่ได้จากความเพียร คือ การพัฒนาตนเองไปในทางที่ดี มีความใฝ่สูงด้านจิตใจอยู่ตลอดเวลา จิตสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน และพร้อมที่จะเผชิญและฝ่าฝันอุปสรรคต่างๆ นานา มุ่งสู่ความสำเร็จ การถือศีลอดในเดือนรอมฎอนของชาวมุสลิมจึงมีคุณประโยชน์อย่างยิ่งต่อการดำเนินชีวิต ต่อหน้าที่การงาน และกิจวัตรประจำวันของชาวมุสลิม นอกเหนือไปจากความยำเกรง และศรัทธาอย่างแรงกล้าที่จะได้ใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้า

ผู้ที่จะถือศีลอด ต้องมีความพร้อมทั้งด้านร่างกายและจิตใจ และมีความแน่วแน่ที่จะฝ่าฟันอุปสรรค ความยากลำบากด้วยความสมัครใจตลอดเดือนรอมฎอน ภารกิจที่ผู้ถือศีลอดควรกระทำตลอดช่วงเดือนรอมฎอน คือ การศึกษาพระคัมภีร์อัลกุรอ่านเพื่อทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้และสามารถปฏิบัติตามพระวัจนะของพระเจ้าได้โดยไม่ผิดเพี้ยน ด้วยคติทางศาสนาว่าเดือนรอมฎอน คือ เดือนที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานคัมภีร์อัลกุรอ่านให้เป็นธรรมนูญชีวิตของมุสลิมทุกคนพึงยึดถือปฏิบัติไว้ให้มั่น ชาวมุสลิมจึงยึดถือว่า เดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่มีความประเสริฐ การปฏิบัติศาสนพิธีและท่องคำภีร์อัลกุรอ่านในเดือนรอมฎอนนี้จึงปฏิบัติเป็นกรณีพิเศษ

การถือศีลอดต้องตั้งเจตนาว่า “ข้าพเจ้าตั้งใจถือศีลอดในวันพรุ่งนี้ ซึ่งเป็นฟัรฎู เดือนรอมาฎอนในปีนี้ เพื่ออัลเลาะฮฺตะอาลา”

ในการถือศีลอดทุกๆ คืน ตั้งแต่แสงอรุณขึ้นจนกระทั่งตะวันลับขอบฟ้า และต้องอดกลั้นต่อบรรดาการกระทำต่างๆ ซึ่งเป็นข้อห้ามที่จะทำให้เสียศีลอด

ข้อควรปฏิบัติในการถือศีลอดที่ถูกต้อง

1.  รับประทานอาหารซุโฮร์ให้ใกล้หมดเวลา และรีบแก้ศีลอดเมื่อเข้าเวลา

2. ไม่พูดนินทา ไม่คิดร้าย ทำใจให้สงบ อ่านอัลกุรอ่าน

3. เคี้ยวอาหารช้าๆ ห้าสิบครั้งต่อคำ ควรทานอาหารไม่อิ่มแน่นมาก

4. ดื่มน้ำสะอาดมากๆ หลังรับประทานอาหาร

5. รับประทานอาหารเหมือนปกติ ไม่ควรเพิ่มอาหารมาก

6. เลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพ

7. ไปละหมาดตะรอเวียะฮ์ (การละหมาดในเดือนรอมฏอน) ทุกๆ วัน อย่างช้าๆ ไม่รีบ

8. แบ่งปันอาหารให้ผู้ที่ถือศีลอด

9. พยายามเลิกสิ่งเสพติดต่างๆ เช่น บุหรี่, ชา, กาแฟ ฯลฯ

10. ควรตรวจร่างกายก่อนเข้าเดือนรอมฎอน และหลังจากสิ้นเดือนรอมฎอน

ข้อห้ามขณะถือศีลอด

1. ห้ามรับประทานหรือดื่ม รวมทั้งการสูบบุหรี่ด้วยโดยเจตนา

2. ห้ามร่วมประเวณี หรือทำให้อสุจิออกมาโดยเจตนา

3. ห้ามทำให้อาเจียนโดยเจตนา

4. ห้ามเอาสิ่งใดเข้าไปจนลึกเกินบริเวณภายนอกในอวัยวะที่เป็นรู เช่น ปาก จมูก โดยเจตนา

ข้อห้ามเหล่านี้ ห้ามเฉพาะเวลากลางวันเท่านั้น ส่วนน้ำลายในปากกลืนได้ไม่ห้าม

ในเดือนรอมฏอน ซึ่งเป็นเดือนที่ 9 ตามปฏิทินอิสลาม ซึ่งนับว่ามีความสำคัญ ตามบัญญัติของศาสนา 1 ใน 5 ของอิสลาม หรือเรียกง่าย ๆ ว่า “การถือบวช” ตามการเรียกของคนไทยที่นิยมเรียกกัน เป็นศีลคล้ายๆ ศีล 5 ของชาวพุทธแต่ศีลอดของอิสลามนั้นไม่ปฏิบัติไม่ได้ มุสลิมที่บรรลุศาสนภาวะแล้ว จำเป็นต้องปฏิบัติศีลนี้อย่างเคร่งครัด ยกเว้นผู้ที่เจ็บไข้ได้ป่วย คนชรา หญิงมีครรภ์  เด็กที่ยังไม่บรรลุศาสนภาวะ (เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี)  หรือ คนเดินทาง เหล่านี้ยกเว้นได้ หมายความว่า บังคับกับผู้ที่มีความสามารถเท่านั้น และเป็นหนึ่งเดือนในปฏิทินจันทรคติ อาจมี 29 หรือ 30 วัน ขึ้นอยู่กับการมองเห็นดวงจันทร์เสี้ยวของเดือนใหม่ ดังนั้นในเย็นของวันที่ 29 ของเดือนชะอ์บาน ชาวมุสลิมจะรวมตัวกันแล้วพาไปดูดวงจันทร์เสี้ยว โดยส่วนใหญ่ไปมัสยิดใกล้บ้าน

มาแรงรอบสัปดาห์