เนียตถือศีลอดตลอดทั้งเดือนรอมฎอน ได้หรือไม่?


เนียตถือศีลอดตลอดทั้งเดือนรอมฎอน ได้หรือไม่?

คําเนียตถือศีลอดในเดือนรอมฎอนมี 2 แบบ

แบบที่1 : คำเนียตถือศีลอดตลอดทั้งเดือน แนะนำให้เนียตทั้งเดือนในคืนแรกกันลืม

เนียต (ตั้งเจตนา) ว่า " ข้าพเจ้าถือศีลอด ทั้งเดือนรอมฎอน เพื่ออัลเลาะห์ตาอาลา "

แบบที่2 : คำเนียตถือศีลอดทุกวัน

เนียต (ตั้งเจตนา) ว่า " ข้าพเจ้าถือศีลอด ในวันพรุ่งนี้ ซึ่งเป็นฟัรฎู เดือนรอมฎอนในปีนี้ เพื่ออัลเลาะห์ตาอาลา "

เนียตถือศีลอดตลอดทั้งเดือนรอมฎอน ได้หรือไม่?

ตามมัซฮับอิหม่ามชาฟิอีย์นั้น จำเป็นต้องเหนียตตั้งใจถือศีลอดทุกคืนของเดือนรอมฎอน เพราะท่านหญิงหัฟเซาะฮ์ ได้รายงานว่า :

ความว่า:  “แท้จริงท่านนะบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า ผู้ใดที่ไม่ตั้งใจ(เหนียต)ถือศีลอดก่อนนแสงอรุณขึ้น ก็ยอมไม่มีการถือศีลอด(ที่ใช้ได้)สำหรับเขา” รายงานโดยอะบูดาวูด, หะดีษเลขที่ 2456.

แต่หากถามว่าจะตักลีดตามมัซฮับมาลิกีย์ได้หรือไม่นั้น ขอตอบว่า อนุญาตให้ตักลีดตามมัซฮับมาลิกีย์ได้ในเรื่องการเหนียตถือศีลอดตลอดทั้งเดือน โดยเนียตในคืนแรกของรอมฎอนครั้งเดียว เพื่อป้องกันการลืมเนียตในทุก ๆ คืนของรอมฎอน

ท่านอัลลามะฮ์ ซัยนุดดีน อัลฟะนานีย์ได้กล่าวว่า

ความว่า: “ดังนั้น ถ้าหากในคืนแรกของเดือนรอมฎอนเขาทำการเนียตถือศีลอดตลอดทั้งเดือน ก็ถือว่าใช้ไม่ได้สำหรับวันอื่นๆ ที่ไม่ใช่วันแรก(หมายความว่าเหนียตใช้ได้ในวันแรกเท่านั้นส่วนคืนอื่นๆ ใช้ไม่ได้) แต่อาจารย์ของเรา (คือท่านอิบนุฮะญัร อัลฮัยตะมีย์) ได้กล่าวว่า

“แต่สมควรเนียตถือศีลอดตลอดทั้งเดือนรอมฎอนในคืนแรก เพื่อสิ่งดังกล่าวนั้นจะให้ได้มาซึ่งการถือศีลอดตามทัศนะของอิมามมาลิกในวันที่เขาลืมเนียต...และที่ชัดเจนแล้วว่า การได้มาซึ่งการถือศีลอดในวันที่เขาลืมเนียตด้วยสาเหตุการเนียตตลอดทั้งเดือนในวันแรกนั้น หากเขาทำการตัดลีดตามอิมามมาลิก” อิอานะฮ์อัฏฏอลิบีน เล่ม 2 หน้า 345.

การเนียตศีลอดตามมัซ ฮับมาลิกีย์นั้น อนุญาตให้เนียตครั้งเดียวตลอดทั้งเดือนรอมฎอนได้สำหรับผู้ที่สามารถถือศีลอดอย่างต่อเนื่องเท่านั้น สำหรับผู้ที่ไม่สามารถถือศีลอดได้อย่างต่อเนื่อง เช่น คนป่วยและคนเดินทางที่ยังคงยืนกรานที่จะถือศีลอด ก็จำเป็นแก่ทั้งสองให้ทำการเนียตถือศีลอดในแต่ละคืนอย่างเป็นเอกเทศน์ เพราะผู้ป่วยหรือผู้เดินทางที่ยืนกรานถือศีลอดอาจจะจำเป็นต้องแก้บวชกระทันหันตอนกลางวันอันเนื่องจากมีอาการป่วยหนักหรือหิวกระหายในขณะเดินทางจนทำให้เกิดโทษแก่ร่างกาย แต่ถ้าหายป่วยแล้วหรือกลับจากเดินทางแล้ว ก็อนุญาตให้เริ่มทำการเหนียตครั้งเดียวให้กับวันที่เหลืออยู่ของเดือนรอมฎอนได้

กล่าวคือ ถ้าหากบุคคลหนึ่งได้ป่วยในวันที่ 1-5 ของเดือนรอมฎอน เมื่อหายป่วยแล้ว วันที่ 6 ก็อนุญาตให้เริ่มทำการเนียตถือศีลอดครั้งเดียวให้กับวันที่เหลืออยู่ของรอมฎอน ได้

สำหรับผู้ที่เดินทางก็เช่นกัน หากเขาเดินทางในวันที่ 1-5 ของเดือนรอมฎอน วันที่ 6 กลับถึงภูมิลำเนา ก็อนุญาตให้ทำการเริ่มเนียตถือศีลอดครั้งเดียวให้กับวันที่เหลืออยู่ของรอมฎอนได้

สำหรับสตรีผู้มีประจำเดือนนั้น ถ้าหากมีประจำเดือนวันที่ 1-6 เดือนรอมฎอน ดังนั้นในวันที่ 7 ก็อนุญาตให้เริ่มทำการเหนียตครั้งเดียวให้กับวันที่เหลืออยู่ของเดือนรอมฎอนได้เช่นกัน

ท่านอัลลามะฮ์ อัชชัยค์ อะห์มัด บิน ฆ่อนีม อัลมาลิกีย์ ได้กล่าวว่า

“ดังนั้น ผู้ป่วยและคนเดินทาง หากทั้งสองยังคงทำการถือศีลอดต่อไป ก็จำเป็นบนทั้งสองทำการเนียตทุกคืน เนื่องจากไม่จำเป็นต้องถือศีลอดอย่างต่อเนื่องในสิทธิของทั้งสอง และในขณะที่ผู้ป่วยมีสุขภาพดีและคนเดินทางได้กลับมาแล้ว ก็เพียงพอแก่ทั้งสองให้ทำการเนียตเพียงครั้งเดียวให้กับวันที่เหลืออยู่(ของรอมฎอน) ซึ่งเช่นเดียวกับสตรีผู้มีประจำเดือน ในลักษณะที่สะอาดจากประจำเดือน และเด็กที่บรรลุศาสนภาวะขณะที่ถือศีลอด และคนกาเฟรที่เขารับอิสลามในช่วงเดือนรอมฎอน(ก็ให้พวกเขาเริ่มทำการเหนียตเพียงครั้งเดียวให้กับวันที่เหลืออยู่ของรอมฎอน)”

อัลฟะวากิฮุดดะวานีย์ อะลี ริซาละฮ์ อิบนิ อะบี ซัยด์ อัลก็อยร่อวานีย์, เล่ม 1 หน้า 467

ที่มา: เรารักเดือนรอมฎอน /http://ramadan.muslimthaipost.com/

มาแรงรอบสัปดาห์