ฮุก่มการเหนียตถือศีลอด เดือนรอมฎอน
ฮุก่มของการเหนียตในการถือศีลอดนั้นอย่างไร? และอย่างไรจึงเรียกว่าเหนียต
การเหนียต “เจตนา” นั้นเป็นเงื่อนไขของทุก ๆ อิบาดะห์ (ศาสนกิจ) อัลเลาะห์จะไม่ทรงรับการปฏิบัติศาสนกิจที่ไม่มีการตั้งเจตนาอันบริสุทธิ์ เพราะอัลเลาะห์ทรงตรัสในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ซูเราะห์อัลบัยยินะห์อายะห์ที่ 5 ความว่า
وَمَا أُمِرُوا إِلَّا لِيَعْبُدُوا اللَّهَ مُخْلِصِينَ لَهُ الدِّينَ
“ และพวกเขามิได้ถูกใช้ให้กระทำการใด ๆ นอกจากเพื่อการเคารพภักดีต่ออัลเลาะห์ เป็นผู้มีเจตนาบริสุทธิ์ในการภักดีต่อพระองค์”
และท่านนบี(ซ.ล.)กล่าวว่า
" إنَّمَا الْأَعْمَالُ بِالنِّيَّاتِ"
“ แท้จริงกิจการทุกอย่างต้องมีการตั้งเจตนา”
การเหนียต หรือการตั้งเจตนา หมายถึง : การตั้งใจกระทำสิ่งหนึ่ง ดังนั้น เมื่อมุสลิมตั้งใจกระทำการสิ่งใดสิ่งหนึ่ง นับว่าเขาได้มีเหนียตแล้ว ส่วนสถานที่เหนียตคือ หัวใจ ส่วนการกล่าวมิใช่ตัวเหนียตแต่เป็นตัวที่ช่วยในการเหนียต และถ้าการกล่าวอย่างหนึ่งที่ไม่ตรงกับในใจที่มีเหนียต ให้ยึดถือส่วนที่อยู่ในใจ ดังนั้น เมื่อเราตั้งใจทานอาหารสะฮูร เพื่อถือศีลอดในวันรุ่งขึ้นก็นับว่าเขาได้เหนียตแล้ว และคำเหนียตที่สมบูรณ์คือ “ ข้าพเจ้าตั้งใจถือศีลอดรอมฎอนปีนี้ ในวันรุ่งขึ้น เพื่ออัลเลาะห์ตะอาลา”
ส่วนเวลาการเหนียตนั้น ให้มีการเหนียตได้นับแต่หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าจนกระทั่งแสงอรุณที่สองขึ้น(เข้าเวลาละหมาดซุบฮิ) หากจะเหนียตถือศีลอดในช่วงไหนระหว่างกลางคืนก็ได้ ข้อสำคัญก็คือ การเหนียตนั้นต้องตกอยู่ในตอนกลางคืน เพราะท่านนบี(ซ.ล.) กล่าวว่า
مَنْ لَمْ يُبَيِّتْ الصِّيَامَ مِنْ اللَّيْلِ فَلا صِيَامَ لَهُ
“ บุคคลที่มิได้มีการเหนียตถือศีลอดก่อนแสงรุณขึ้น ถือว่าการถือศีลอดของเขานั้นใช้ไม่ได้ ” บันทึกโดยดาร่อกุตนีย์